ประวัติความเป็นมาพระพุทธบาทภูชาติ ป่าภูชาติ เป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของเนินเขาภูแลนคา มีทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ เป็นเขตกั้นระหว่างตำบลนาเสียวและตำบลโพนทอง ช่วงกิโลเมตรที่ ๑๓๕ – ๑๓๗ ถนนชัยภูมิ-แก้งคร้อ ด้านทิศใต้มีแนวพนังเนินเขาภูชาติเป็นเขตกั้นระหว่างตำบลนาเสียวกับตำบลบ้านเล่า อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเป็นลานหินหน่อ เป็นลานหินราบ จัดอยู่ในกลุ่มป่าเสื่อมโทรม คือป่าที่มีไม้มีค่าที่มีลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่บางส่วน ป่าเสื่อมโทรมในลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ ๒ รูปแบบ คือ การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพโดยสิ้นเชิง และพัฒนาหน้าดินให้มีคุณภาพก่อนปลูกเสริมป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวเองตามธรรมชาติได้ พระพุทธบาทภูชาติ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดชัยภูมิ หลายๆ คนในแถบเคยเห็นอิทธิฤทธิ์เป็นลูกไฟพวยพุ่งออกจากบริเวณนี้ในวันพระใหญ่ และในรัศมีพื้นที่ใกล้เคียงกันรัศมี ๑๕ กิโลเมตร มีรอยพระบาทคู่กับบ่อน้ำทิพย์ทุกจุด ถ้ากำหนดเอาพระพุทธบาทภูชาติเป็นศูนย์กลาง พระพุทธบาทภูแฝด (อยู่ทางทิศตะวันออก) พระพุทธบาทภูพระ (อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) พระพุทธบาทสระหงษ์ (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) และพระพุทธบาทภูโค้ง (ทิศเหนือ) (วัด)พระพุทธบาทภูชาติ มีสถานะเป็นที่พักสงฆ์และเป็นวัดร้างโบราณที่เคยรุ่งเรืองในอดีต มักจะมีพระธุดงค์เดินทางมาปักกลดบำเพ็ญเพียร มีปูชนียวัตถุสำคัญ คือมีรอยพระพุทธบาทคู่กับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ในบริเวณแถบนี้ก็รู้กันว่ามีรอยพระบาทอยู่ภายในป่าภูชาติ แต่ก็ไม่ทราบว่าประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด อีกทั้งมีการนำท่อนไม้ซุงมาปิดทับรอยพระบาทในช่วงเวลาหนึ่งจนเปื่อยผุพัง จึงได้มาค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ มีถ้ำโบราณ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำพระขี่ครั่ง” มีพระพุทธรูปทองคำและพระพุทธรูปแก้วประดิษฐานอยู่ เมื่อถึงเวลาอันควรจะเสด็จออกมาให้สาธุชนได้สักการบูชา ซี่งตรงกับคำปริศนาของพระธุดงค์ที่กล่าวไว้ตามลายแทงว่า
รอยพระบาทใน(วัด)พระพุทธบาทภูชาติ เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย (ดั้งเดิม) และรอยพระบาทมงคล ๑๐๘ ซึ่งสร้างขึ้นมาควบคู่กับรอยพระบาทดั้งเดิม มีพระพุทธบารมีสามัคคีธรรมชัยยะ ปูนปั้นสีขาวองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่หน้าถ้ำ เป็นพระพุทธรูปเรืองแสงสร้างครอบองค์เก่าให้ถูกต้องตามพุทธลักษณะ และได้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหารซึ่งได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา จึงมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่จะมาถึงพระพุทธบาทภูชาติได้ ต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาจริงๆ เท่านั้น ส่วนคนที่มีบุญหรือมีวาสนาไม่ถึงก็จะมีเหตุและอุปสรรคต่างๆ ทำให้ไม่ได้มา ทั้งที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ถ้าผู้ใดได้เข้ามาวัดนี้ จะต้องมีเหตุได้เข้ามาอีกอยู่เรื่อยๆ เพราะอำนาจบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานภายในวัดและในถ้ำ บนถ้ำพระขี้ครั่งจะมีพระมหาอุตม์บรรจุในซากกองหิน ต่อมาได้สร้างเจดีย์ครอบไว้ มีชื่อเรียกว่า “พระธาตุมหาอุตม์” เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พระมหาโยธิน โยธิโก/ปัดชาสี, รศ.ดร., ป.ธ.๙ รองเจ้าอาวาสไพรีพินาศ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ได้พิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว เห็นว่าชัยภูมิแห่งนี้เป็นสถานที่เหมาะสมที่จะบำเพ็ญบารมีธรรมปฏิบัติให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป จึงได้เข้ามาดำเนินการต่อยอดและพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นสัปปายะไม่ใกล้และไม่ไกลจากตัวจังหวัดชัยภูมิ มีทางหลวงสาย ๒๐๑ (สีคิ้ว – เชียงคาน) เส้นทางหลักสัญจรผ่านหน้าวัด อีกทั้งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้พุทธศาสนิกชนได้ซาบซึ้งในธรรมรส ทั้งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเพาะสันติธรรมให้เกิดขึ้นแก่โลกมนุษย์ จึงได้เสียสละกำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา อาศัยความสามัคคี และความร่วมมือจากชาวบ้านนาเสียว ชุมชนบ้านเล่า และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการการสืบอายุพระพุทธศาสนา แม้ว่าที่พักสงฆ์พระพุทธบาทภูชาติ จะได้มีการก่อสร้างและดำเนินการผลัดเปลี่ยนมาหลายรุ่นต่อรุ่นเป็นระยะเวลามานานมากกว่า ๘๐ ปีแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันยังไม่มีสถานภาพเป็นวัดตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื่องจากสถานที่ตั้งที่พักสงฆ์อยู่ภายในเขตพื้นที่ที่ทางราชการกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ยังไม่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินที่จะใช้ประกอบตามกฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัดการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พ.ศ. ๒๕๕๙ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่ด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่สมควรจะได้ดำเนินการให้ที่พักสงฆ์ดังกล่าวเป็นวัดโดยสมบูรณ์ในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่พำนักอาศัยและประกอบศาสนกิจได้ตามพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและประกอบศาสนพิธีตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพุทธศาสนิกชน ทั้งเป็นประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ป้องกันการบุกรุกป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องมีการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนชาติแห่งชาติ (ป่าชุมชน) เพื่อให้สามารถดำเนินการสรางและจัดตั้งวัดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป |
|