พระพุทธบาทภูชาติ ::
Untitled Document

การขุดพบพระบรมสารีริกธาตุครั้งแรกของโลก

เมื่อ พ.ศ.2439 มิสเตอร์วิลเลี่ยม แคลกซ์ตัน เปปเป (William Claxton Peppe) ชาวอังกฤษ ซึ่งมีถิ่นพำนักในประเทศอินเดีย ได้ขุดค้นซากปรักหักพังของสถูปโบราณซึ่งจมอยู่ภายใต้เนินดินี่ตำบลปิปราห์วะ (Piprahwa) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบัสติ (อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสด์สมัยพุทธกาล) ห่าง 70 กิโลเมตรจากเมืองโครัขปูร์ (Gorakhpur) ติดพรมแดนเนปาล เพราะได้พบดวงไฟประหลาดพวยพุ่งออกจากกองเนินดินสถูปร้างเป็นอัศจรรย์นัก ณ บริเวณใกล้ที่พักอาศัยของตน โดยในครั้งแรกได้ขุดหลุมกว้าง 10 ฟุต และลึก 8 ฟุต จนกระทั่งทะลุถึงถ้ำซึ่งก่อด้วยอิฐ เกิดความมั่นใจว่าเนินดินนี้จะต้องเป็นสถูปในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน


วิดีโอเหตุการณ์จำลองการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ

จึงหยุดการขุดไว้ก่อนและได้ขอคำปรึกษาไปยังนักโบราณคดีและเมื่อขุดรื้อสำรวจพบพระสถูปโบราณจากตรงกลางยอดลึกลงไป 10 ฟุต ได้พบท่อกลมก่อด้วยอิฐปากกว้างราว 2 คืบ จึงขุดตามท่อกลมนั้นลงไป ได้พบหีบศิลาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทำจากหินทราย 1 หีบ ภายในหีบศิลามีผอบศิลา 3 ผอบ กับหม้อแก้ว 1 หม้อ เต็มไปด้วยข้าวของ เงินทอง เพชร พลอย และเครื่องประดับต่างๆ มากมาย ประกอบด้วย เครื่องหมายพระรัตนตรัย ใบไม้ และนก นอกจากนั้นยังมีแผนทองคำตีตราเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้มิสเตอร์เปปเปเกิดความตื่นเต้นมากที่สุดก็คือ ภายในหีบศิลามีผอบบรรจุอัฐธาตุประมาณสักฟายมือหนึ่ง (one handful) และตัวผอบมีข้อความจารึกเป็นอักษรพราหมี (Brahmi) น่าจะมีอายุมากกว่า 300 ปี ก่อนคริสต์ศักราช นั่นก็คือ เป็นอักษรที่จารึกมาแล้วประมาณ 2,198 ปี ก่อนการขุดพบ
นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ หรือหลังจากนั้นก็ไม่น่าจะเกินพุทธศตวรรษที่ 2-4 โดยมีข้อความว่า

“อิยะสะลิละนิธะเนพุธะสะภะคะวะตะสะสากิยานะสุกิติภาตีนังสะภะคินิกานะสะปุตะทาลานะ” แปลได้ว่า “ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของตระกูลศากยราช ผู้มีเกียรติงาม กับพระภาดา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวาย”
   จากจารึกและข้อสรุปของนักภาษาศาสตร์ทำให้มั่นใจได้ว่า พระธาตุที่บรรจุอยู่ภายในผอบนี้ เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดส่วนที่เจ้าศากยะได้รับไปในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน การขุดพบครั้งนี้จึงเป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ครั้งแรกของโลก

ในระหว่างนั้นพระชินวรวงศ์ หรือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ผนวชเป็นพระภิกษุได้เดินทางออกจากศรีลังกาไปยังอินเดียพร้อมกับคณะสงฆ์ศรีลังกาจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์ได้ไปเห็นการขุดค้นแล้วพบพระบรมสารีริกธาตุ จึงอยากจะนำมาถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงเข้าไปขอนายเปปเป้ ฝ่ายนายเปปเป้ได้นำเรื่องนี้ไปให้ข้าหลวงพิจารณา ในที่สุดท่านลอร์ดมารควิสเคอร์ชัน (The Lord Curzon of Kedleston) ผู้ดำรงตำแหน่งอุปราชครองประเทศอินเดีย ซึ่งเคยมาเมืองไทย และมีความคุ้นเคยกับรัชกาลที่ 5 เห็นว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวพุทธ จึงควรมอบสมบัติอันล้ำค่านี้แก่ชาวพุทธ ซึ่งเห็นว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงนับถือศาสนาพุทธสมัยนั้น ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสยามเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

รัฐบาลอินเดียจึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะทูลเกล้าถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่รัชการที่ 5 โดยให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนเป็นคณะราชทูตไปรับ และขอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาอีกด้วย ในหลวงจึงได้สรรหาบุคคลที่มีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษได้ดี รู้จักภาษาบาลีและพระพุทธศาสนา เป็นทูตไทยไปรับ ผลการคัดเลือกจึงได้ พระยาสุขุมนัยพินิจ (ปั้น สุขุม) ซึ่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นมหาเปรียญและรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี พร้อมด้วยหลวงพินิจอักษรรวมคณะ 23 ท่านไปรับมอบที่เมืองโครัขปูร์ รัฐอุตตรประเทศ เดินทางโดยเรือกลไฟของอังกฤษ เมื่อมาถึงได้เชิญโกษฐ์กาไหล่ทองคำมารับ นายวิลเลี่ยม โฮย ข้าหลวงอังกฤษเมืองโครัขปูร์เป็นตัวแทนฝ่ายอินเดียมอบที่จวนผู้ว่าเมองโครัข์ปูร์
     หลังจากนั้นคณะทูตไทยก็ได้เดินทางกลับมาขึ้นฝั่งที่เมืองตรัง มีประชาชนจากเมืองตรัง ภูเก็ต ระนอง ตะกั่วป่า พังงา ทราบข่าวการเสด็จมาของพระบรมสารีริกธาตุก็พากันแห่แหนมาบูชาเป็นเรือนหมื่น แล้วเดินทางต่อมาถึงกรุงเทพ มอบให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ เสนาบดีกระทรวงเมือง มาประดิษฐานที่พระสมุทรเจดีย์ ปากน้ำ ในระหว่างนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระประชวร จึงโปรดให้ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชา กรมขุนนครราชสีมา เป็นตัวแทนพระองค์ไปบรรจุที่บรมบรรพรต (ภูเขาทอง) ในวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2442 และทรงโปรดฯ ให้มีพิธีเฉลิมฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน