พระพุทธบาทภูชาติ ::
Untitled Document

รอยพระพุทธบาทภูชาติ

    รอยพระพุทธบาท เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของชาวพุทธ ตามคติอินเดียถือเป็นอุทเทสิกเจดีย์ ภายหลังพุทธกาลไม่นานนักได้มีการสร้างขึ้นเพื่ออุทิศต่อพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งนับถือแทนพระพุทธรูป แต่ตามคติของลังกา เชื่อกันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ไว้ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น รอยพระพุทธบาทเป็นบริโภคเจดีย์อย่างหนึ่งด้วย คือ เป็นของเนื่องในตถาคตเจ้า เหมือนกับสังเวชนียสถานทั้ง 4

    รอยพระพุทธบาท ซึ่งอ้างกันว่าเป็นรอยที่พระพุทธเจ้า ได้เสด็จไปเหยียบไว้ด้วยพระองค์เอง มีอยู่ 5 แห่ง ซึ่งก็มีตำนานต่าง ๆ กัน คือ เขาสุวรรณมาลิก เขาสุมนกูฏ เมืองโยนก หาดทรายในลำน้ำนัมมทานที และเขาสุวรรณบรรพต
   รอยพระพุทธบาทในอดีตจะไม่มีการสร้างโดยมนุษย์ทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการบันดาลให้เกิดขึ้นมาจากแรงอธิษฐานจิตด้วยอิทธาภิสังขารของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องอจินไตย เมื่อมนุษย์ไปพบเห็นก็ทำการสักการบูชาเพื่อเป็นพุทธานุสสติ

    พระพุทธบาทภูชาติ ประดิษฐานบนไหล่เขาภูชาติ หรือเรียกกันว่า "เทือกเขาภูชาติ" เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย มีขนาดความกว้างด้านปลายพระบาท ๑.๐๙ เมตร ความกว้างด้านส้นพระบาท ๐.๘๐ เมตร ความยาว ๒.๐๕ เมตร ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านได้มีการพบรอยพระบาทนี้มานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีเปิดเผยว่าเป็นรอยพระพุทธบาทหรือทราบว่าเป็นรอยพระบาทแต่อย่างใด พึ่งมีการพบเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ ช่วงของการบุกเบิกการสร้างวัด
   นอกจากนั้น ยังพบรอยพระพุทธบาทรอยที่ ๒ รอยพระพุทธบาท กว้าง 72 นิ้ว ยาว 108 นิ้ว ซึ่งพบโดยพระมหาทองจันทร์ จกฺกวโร พร้อมด้วยคณะนิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

คำนมัสการรอยพระพุทธบาท

   วันทามิ พุทธัง ภะวะปาระติณณัง ติโลกะเกตุง ติภะเวกะนาถัง ฯ โย โลกะเสฏโฐ สะกะลัง กิเลสัง เฉตวานะ โพเธสิ ชะนัง อะนันตัง ฯ ยัง นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน จะ ตีเร ยัง สัจจะพันธะคิริเก สุมะนา จะ ลัคเค ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะ ปาทัง ตัง ปาทะลัญชะนะมะหัง สิระสา นะมามิ ฯ สุวัณณะมาลิเก สุวัณณะปัพพะเต สะมะนะกูเฏ โยนะกะปุเร นัมมะทายะ นะทิยา ปัญจะปาทะวะรัง ฐานัง อะหังวันทามิ ธาตุโย ฯ
   อุกาสะ วันทามิ อาราเม พัทธะเสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพพัง เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต วันทามิ ภันเต คุรุ อุปัชฌายะ อาจะริยะคุรัง สัพพังเม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต วันทามิ ภันเต ภะคะวา โลกะนาถัง อะตีตัง เม โทสัง อะนาคะตัง เม โทสัง ปัจจุปันนานัง เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต สาธุ สาธุ อะนุโมทามิฯ